Sunday, December 1, 2019

#3thTrip National Library of Thailand @Bangkok



ทริปนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่  25-27 ตุลาคม 2562
ในการเดินทางไปยังจังหวัดกรุงเทพมหานคร

      
หอสมุดแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นโดยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมหอพระสมุด 3 แห่งเข้าด้วยกันคือ หอพุทธสาสนะสังคหะ, หอพระมณเฑียรธรรม และหอพระสมุดวชิรญาณ แล้วพระราชทานนามว่า "หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร" เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2448 ตั้งอยู่ ณ หอคองคอเดียในพระบรมมหาราชวัง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายพื้นที่ตั้งแห่งใหม่มาอยู่ตึกถาวรวัตถุ ริมถนนหน้าพระธาตุ และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2459
       ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายพื้นที่การให้บริการเป็น  2 แห่ง คือ หนังสือตัวพิมพ์ทั้งหมด และ หนังสือส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้บริการ ณ ตึกถาวรวัตถุ พระราชทานนามว่า "หอพระสมุดวชิราวุธ" ส่วนศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย ตู้ลายรดน้ำ ย้ายไปให้บริการที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระราชทานนามว่า "หอพระสมุดวชิรญาณ" เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดหอพระสมุดวชิรญาณและหอพระสมุดวชิราวุธ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469
       ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลมีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงธรรมการ พ.ศ.2476 กำหนดให้หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครเป็นกองหอสมุด ขึ้นอยู่ในกรมศิลปากร ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "หอสมุดแห่งชาติ" โดยหอสมุดแห่งชาติได้พัฒนามาเป็นลำดับ สถานที่ให้บริการที่ตึกถาวรวัตถุจึงไม่เพียงพอ กรมศิลปากรจึงดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ที่ท่าวาสุกรี แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2509 และเริ่มให้บริการ ณ สถานที่แห่งใหม่มาจนถึงปัจจุบัน
หอสมุดแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่จัดเก็บ รวบรวม สงวนรักษา และอนุรักษ์มรดกทรัพย์สินทางปัญญา วิทยาการ ศิลปกรรม และวัฒนธรรมของชาติ ในรูปของหนังสือตัวพิมพ์ เอกสารโบราณ ได้แก่ ศิลาจารึก คัมภีร์ใบลาน หนังสือสมุดไทย รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิคส์ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ให้บริการความรู้และข่าวสารแก่คนในชาติ
ผลที่ได้จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ที่หอสมุดแห่งชาติ ได้เรียนรู้เกี่ยวก้บ การจัดนิทรรศการในประเภทต่าง ๆ ทั้งในด้านของการจัดให้ผู้ชมได้เข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งในเรื่องของการเข้าชมรวมไปจนถึงการเข้าใช้ วิธีการจัดการเกี่ยวกับทรัพยากร หรือวัตถุโบราณต่างๆ ตั้งแต่การเก็บสงวนรักษา การนำมาเผยแพร่ โดยเผยแพร่อย่างไรที่จะไม่ส่งผลเสียต่อหลักฐานโบราณชิ้นนั้น โดยได้สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.  ประเภทเอกสารโบราณ
       หอสมุดแห่งชาติ ได้มีการรวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ และให้บริการเอกสารโบราณประเภทหนังสือสมุดไทย คัมภีร์ใบลาน เป็นต้น เอกสารเหล่านี้มีอายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมสะท้อนภูมิปัญญาในการบันทึกสรรพวิทยาการของบรรพชนไทย
คัมภีร์​ใบลาน เป็นการเขียนหนังสือลงบนใบลาน ส่วนใหญ่เป็นคำสอนในพุทธศาสนา เช่นพระไตรปิฎก แต่ ยังมีเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากพุทธศาสนาเช่นกันเช่น กฎหมาย โหราศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ คัมภีร์ใบลานส่วนมากจะเขียนขึ้นเป็นตัวอักษรธรรมอีสาน อักษรธรรมล้านนาและไทยโบราณเป็นส่วนใหญ่ มีการจัดหมวดหมู่โดยเรียงตามลำดับตัวอักษรจาก ก ถึง ฮ 

หนังสือสมุดไทย เป็นหนังสือที่ทำจากเปลือกไม้ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยยังมีการแบ่งเป็นสมุดไทยขาวสมุดไทยดำ นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งสมุดไทยตามประเภทกระดาษด้วย โดยแบ่งเป็นกระดาษไทยและกระดาษฝรั่ง โดยหนังสือสมุดไทยได้แบ่งออกเป็นหลายหมวดด้วยกัน เช่น หมวดกฎหมาย หมวดจดหมายเหตุ หมวดตำรา หมวดวรรณคดี เป็นต้น

2.  ประเภทหนังสือหายาก
       หอสมุดแห่งชาติ ได้มีการรวบรวมหนังสือหายากและเอกสารที่มีคุณค่าเป็นมรดกทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ ทั้งด้านเนื้อหาและด้านการพิมพ์ ที่มีอายุประมาณ 50-150 ปี ผู้ค้นคว้าไม่สามารถหาได้จากห้องสมุดทั่วไป และไม่มีจำหน่วยในท้องตลาด ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติเก็บรักษาหนังสือหายากที่มีคุณค่าไว้เป็นมรดกทรัพย์สินทางปัญญาของชาติที่ผ่านขั้นตอนการดำเนินการตามหลักวิชาบรรณารักษศาสตร์แล้ว จำนวนมากกว่า 50,000 เล่ม ประกอบด้วยพระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ หนังสือส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ๆ หนังสือที่พิมพ์ในระยะเริ่มแรก หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก และพิมพ์ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ รวมทั้งหนังสือที่มีความโดดเด่น มีรูปเล่มสวยงาม และมีภาพประกอบที่ทรงคุณค่า เป็นต้น นอกจากนั้นยังนับรวมถึงหนังสือใหม่ที่พิจารณาแล้วว่าจะเป็นหนังสือพิเศษที่หาได้ยากในอนาคตอีกด้วย
3.  ประเภทงานวิจัยและวิทยานิพนธ์
       สำนักหอสมุดแห่งชาติ ให้บริการวิทยานิพนธ์และวิจัยทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บริการด้วยระบบชั้นปิด สำหรับวิทยานิพนธ์และวิจัยก่อนปีพ.ศ. 2547 ลงไป ให้บริการที่หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง เฉลิมพระเกียรติ นอกจากนั้น ยังมีการจัดวัตถุแสดงอื่นๆ เช่น ตู้ไทยโบราณ หรือตู้พระธรรม ซึ่งใช้ในการเก็บรักษาพระไตรปิฎก หนังสือสวดมนต์หรือคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา มีการแบ่งลักษณะของตู้ไปตามการตกแต่ง เช่น ตู้ลายกนกเปลวเพลิง ตู้ลายกนกรวงข้าว และตู้ลายรดน้ำ

จารึก มีการจัดเก็บจารึก ที่พบในประเทศไทย ทั้งจารึกบนแผ่นไม้ จารึกบนหิน หรือจารึกที่ปรากฏบนแผ่นเหล็ก เช่น จารึกลานเงินจารึกลานทอง โดยการกำหนดอายุของจารึก จัดเรียงลำดับตามความเก่าแก่ของตัวอักษร เช่น อักษรขอมโบราณ มอญโบราณและไทยโบราณตามลำดับ
ภายในสำนักหอสมุดแห่งชาติ ยังมีพื้นที่ให้บริการในการอ่านหนังสือ โดยมีห้องสมุดขนาดใหญ่ มีการจัดเรียงหนังสือตามระบบดิวอี้ หรือการเรียงประเภทหนังสือตามลำดับ 000 ถึง 900 ซึ่งมีทั้งหนังสือทั่วไป หนังสือปรัชญา​ ศาสนา ความรู้​ด้านสุขภาพ และวิทยาศาสตร์​ นอกจากนั้นยังมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์​ไว้คอยบริการสำหรับการค้นหาหนังสืออีกด้วย
ตู้เก็บหนังสือ
GLAM กับ สำนักหอสมุดแห่งชาติ
สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้มีการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม โดยพยายามที่จะสร้างระบบที่เป็นทางการขึ้นเพื่อบ่งชี้ตัวอย่างของมรดกทางวัฒนธรรมและสงวนรักษามรดกนั้นไว้เพื่ออนาคต ฉะนั้นมรดกในที่นี้จึงไม่รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่าง หากแต่เป็นการจัดการในลักษณะเฉพาะเพื่อให้ผู้คนได้เกิดความรู้ความเข้าใจโดยถ่ายทอดและแปลความคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ให้แก่ผู้มาเยือน เนื่องจากมรดกทางวัฒนธรรมมีความแตกต่างกันในเรื่องของขนาดและความซับซ้อนของระยะเวลาที่ปรากฎและการใช้งาน วิธีการจัดการมรดกแต่ละอย่างจึงมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจัดระเบียบทรัพยากรมนุษย์ที่จะดูแลและสนับสนุนนโยบายการรักษาด้วยเช่นกัน สำนักหอสมุดแห่งชาติได้ทำหน้าที่ในการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม ดังนี้
  1. การจัดนิทรรศการ
1.1 พื้นที่จัดนิทรรศการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ มีการจัดแบ่งพื้นที่จัดนิทรรศการออกเป็น 2 อาคารหลัก ได้แก่  
-พื้นที่จัดนิทรรศการอาคาร 1 จะเป็นห้องบริการหนังสือความรู้ทั่วไป ปรัชญา ศาสนา สังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มุมทรัพยากรสารสนเทศเกาหลี ศิลปะ วรรณคดี ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หนังสือเกี่ยวกับประเทศไทย ทรัพยากรสารสนเทศภาษาจีน และเก็บวารสารและหนังสือพิมพ์เย็บเล่ม และฉบับล่วงเวลา 
-พื้นที่จัดนิทรรศการอาคาร 2 จะเป็นพื้นที่ที่มีการจัดเก็บวิทยานิพนธ์และวิจัย หนังสือหายาก หนังสือตัวเขียนและจารึก (เอกสารโบราณ) ซึ่งส่วนนี้ถือว่าเป็นหัวใจหลักของหอสมุดแห่งชาติ เนื่องจากว่าเป็นพื้นที่แห่งการศึกษาของนักเรียน นิสิต/นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย และประชาชนทั่วไป ในการเข้ามาค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับเอกสารโบราณ วัตถุโบราณ รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ต่างๆ 
1.2 การจัดหมวดหมู่/ประเภท  การใช้มาตรฐานในการจัดการเอกสารโบราณของหอสมุดแห่งชาติ จะมีการคัดแยกเอกสารตามประเภทหรือหมวดหมู่ ถ้าเป็นวรรณคดีจะจัดเรียงตามฉันทลักษณ์ หรือถ้าเป็นหมวดอื่นๆ จะจัดเรียงตามชื่อตัวอักษร กรณีพบว่าเอกสารโบราณฉบับใดฉบับหนึ่งเข้าข่ายจัดอยู่ในหลากหลายหมวดหมู่ จะยึดตามหลักเนื้อหาส่วนใหญ่ในการจัดหมวดหมู่ โดยขั้นตอนการอนุรักษ์การจัดเก็บเอกสารโบราณก็จะคล้ายคลึงกับเอกสารที่หอจดหมายเหตุ
1.3 ลำดับการจัดวัตถุแสดง ภายในพื้นที่จัดนิทรรศการอาคาร 2 ที่ประกอบการจัดแสดงวัตถุโบราณต่างๆ จะมีการจัดลำดับตามยุคสมัยโดยในที่นี้เริ่มจากการจัดแสดงประเภทเอกสารโบราณ คัมภีร์โบราณ หนังสือสมุดไทย ข้าวของเครื่องใช้โบราณ ตู้พระธรรม หลักจำลองศิลาจารึก/แผ่นจารึก เป็นต้น 


  1. การอนุรักษ์และการสงวนรักษา
การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมและการสงวนรักษาเป็นการกระทำหนึ่งที่อยู่ในโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลนำเข้าเกี่ยวกับเงื่อนไขและการใช้มรดกเหล่านั้น ซึ่งขอบเขตของงานนี้ช่วยให้การสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมอยู่ได้ยาวนานและยั่งยืน สำหรับการอนุรักษ์และสงวนรักษาของสำนักหอสมุดแห่งชาติ มีวิธีการจัดการดังนี้
ห้องควบคุมอุณหภูมิ ทั้งเอกสารโบราณ หนังสือสมุดไทย คัมภีร์ใบลานและเอกสารสำคัญต่างๆเหล่านี้จะถูกจัดเก็บในห้องควบคุมอุณหภูมิประมาณ 24 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ที่ 50 เปอร์เซ็น เพื่อให้เอกสารไม่เสื่อมสภาพและเพื่อเป็นการป้องกันแมลงเข้าไปทำลายสภาพของเอกสาร ทำให้เอกสารนั้นอายุยืนยาวตลอดไป 
เครื่องอ่านไมโครฟิล์ม จัดเป็นวัสดุไม่ตีพิมพ์ประเภทหนึ่ง โดยเกิดจากการถ่ายภาพย่อส่วนของสิ่งพิมพ์ต้นฉบับลงบนแผ่นฟิล์มหรือกระดาษทึบแสงให้มีขนาดเล็กมาก จนไม่สามารถอ่านข้อมูลได้ด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องอาศัยเครื่องอ่านเฉพาะ ซึ่งเรียกว่า Microfilm reader ซึ่งที่หอสมุดแห่งชาติจะนำมาจัดเก็บ วารสาร หนังสือพิมพ์ หนังสือหายาก เอกสารโบราณ เป็นต้น เพื่อประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บ และการสงวนรักษาเอกสารต้นฉบับสำคัญและหายาก
 
ภาพ เครื่องอ่านไมโครฟิล์ม
การซ่อมหนังสือ ในกรณีที่หนังสือภายในหอสมุดมีการชำรุด หอสมุดจะมีการส่งซ่อมบำรุงหนังสือในกรณีที่หนังสือชำรุดอย่างมาก แต่ในกรณีที่หนังสือชำรุดเพียงเล็กน้อยทางสำนักหอสมุดจะใช้กาวเฉพาะที่ใช้ซ่อมบำรุงหนังสือ เช่น การใช้กาวเมทิลเซลลูโลส   เพื่อช่วยซ่อมแซมหนังสือให้ใช้งานและพร้อมให้บริการแก่ผู้อ่านได้
  1. การเผยแพร่
สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้มีการจัดการเผยแพร่เพื่อช่วยให้ประชาชนรับรู้เรื่องราว และความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น อาทิ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารทางเว็บไซต์ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับหอสมุด การปรับปรุงระบบในการให้บริการด้านการยืม-คืนหนังสือ รวมถึงขั้นตอนการเข้าใช้บริการต่างๆ การเผยแพร่นอกจากจะสร้างความเข้าใจที่ดีเพื่อจะมีแนวร่วมในการอนุรักษ์ปกป้องคุ้มครองจากคนทั่วไปแล้ว ยังช่วยลดปัญหาในการใช้มรดกวัฒนธรรมไปในทางที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย
  1. การปกป้องคุ้มครอง
สำนักหอสมุดแห่งชาติ ได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะที่เป็นพื้นที่การอนุรักษ์และสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรม ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. 2546 ของ UNESCO เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบและการใช้มรดกทางวัฒนธรรมเพื่อการค้า
การบริหารจัดการสถาบันมรดกทางวัฒนธรรม
  1. การบริหารงาน
สำนักหอสมุดแห่งชาติ มีการบริหารจัดการสถาบันมรดกทางวัฒนธรรมตามรูปแบบที่เป็นสากลตามมาตรฐานระดับโลก ซึ่งบุคลากรในส่วนของเอกสารโบราณเป็นบุคลากรปฏิบัติงานจำนวน 13 คน ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
  1. กลุ่มทะเบียนและบริการ  ทำหน้าที่จัดระเบียบและระบบการจัดเก็บรักษาเอกสารและหลักฐาน  และเอกสารอื่น ๆ ตามความจำเป็นที่เกี่ยวข้องกับงานทะเบียน 
  2. กลุ่มสำรวจเอกสาร มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานตรวจพิสูจน์ประเภทเอกสารโบราณ รวมถึงตัววัตถุโบราณต่างๆ
  3. กลุ่มนักภาษาโบราณ ทำหน้าที่ถ่ายทอด คัดลอกอักษรโบราณให้เป็นอักษรไทยปัจจุบัน สำรวจ แสวงหา สืบค้นแหล่งเอกสารโบราณ เพื่อรวบรวมและบันทึกข้อมูลเอกสารโบราณ ตรวจสอบสภาพ ซ่อม สงวนรักษาเอกสารโบราณ เพื่อสงวนและรักษาเอกสารโบราณ เป็นต้น
2. การเข้าใช้บริการ
ขั้นตอนการเข้าใช้บริการหอสมุดแห่งชาติ 
  1. ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้บริการได้ โดยการกรอกข้อมูลในแบบฟอร์ม 
  2. กรณีขอใช้บริการเกี่ยวกับเอกสารโบราณอายุ 100 ปี หรือเอกสารก่อนรัชกาลที่ 4 จะมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากแต่จะใช้เวลาในการพิจารณานาน โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติจะมีแบบฟอร์มการขอใช้บริการ ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องแนบบัตรประชาชน กรณีที่เป็นนักศึกษา นักวิจัย หรือนักวิจัยชาวต่างประเทศ ต้องกรอกแบบฟอร์ม 3 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลของมหาวิทยาลัย  ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลที่ต้องการใช้ (ต้องระบุให้ละเอียด) ซึ่งจะสามารถศึกษาเอกสารโบราณได้ไม่ต่ำกว่า 5 รายการต่อครั้ง บัตรการขอเข้าใช้บริการจะมีอายุการใช้งาน 1 ปี สามารถต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง กรณีเป็นประชาชนทั่วไปก็ต้องกรอกข้อมูลเช่นกัน แต่จะต่างกันที่แบบฟอร์มการเข้าใช้บริการ ส่วนบัตรการเข้าใช้บริการจะมีอายุการใช้งาน 3 เดือน ทั้งนี้หากต้องการถ่ายเอกสาร จะมีค่าใช้จ่ายตามจำนวนและความสำคัญของเอกสารโบราณ
  3. ผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลเอกสารโบราณ สามารถขอคัดสำเนาเอกสารเพื่อใช้ในการศึกษาได้ โดยมีค่าใช้จ่าย หากเป็นรูปจะมีค่าใช้จ่ายรูปละ 30 บาท เอกสารไมโครฟิล์มจะมีค่าใช้จ่ายแผ่นละ 10 บาท นอกจากนั้น ยังมีบริการขอเอกสารฉบับจริงเพื่อใช้ในการศึกษาข้อมูล โดยมีระเบียบวิธีการขอเอกสารแบ่งเป็น 2 ประเภท โดยสามารถขอใช้เอกสารฉบับจริงได้ 1 ปี และต่ออายุได้ 3 ครั้ง และไม่เกิน 5 เล่ม
จากการเข้าเยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม โดยหอศิลป์สมุดแห่งชาตินั้น มีความสอดคล้องกับ GLAM ในส่วนของ M หรือ Museam เนื่องมาจากว่าหอสมุดแห่งชาตินั้นมีการจัดแสดงโดยการนำเอาข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้มาแสดง เช่น ตู้เก็นพระธรรม ศิลาจารึก หนังสือสมุดไทยโบราณ รวมไปถึงคัมภีร์ใบลาน ซึ่งสิ่งของเหล่านี้ผู้เข้าชมไม่สามารถจับต้องได้เช่นเดียวกับในพิพิธภัณฑ์ และยังมีการเชื่อมโยงที่เกี่ยวกับ L หรือ Library ที่มีหนังสือที่รวมรวม หรือแปลภาษา ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับวัตถุโบราณแต่ละชิ้น โดยผู้ที่ต้องการจะใช้งานนั้นจำเป็นจะต้องมีการดำเนินงานที่ค่อนข้างจะเป็นระบบ เนื่องจากการจัดทำหนังสือเพื่อเป็นการส่งสารที่เพิ่อให้คนรุ่นใหม่นั้นเข้าใจง่ายมีขั้นตอนในการทำนั้นยากมากๆ ตั้งแต่การแปล การวิเคราะห์ข้อความ ซึ่งผู้เข้าใช้นั้นสามารถที่จะคัดลอกนำกลับบ้านได้ แต่ว่าจะมีการเก็บค่าบริการ ซึ่งราคาจะขึ้นอยู่กับว่าท่านต้องการใช้ชิ้นไหน เป็นต้น  


บทความโดย : Dek-South East Asia