Tuesday, September 25, 2018

#2ndTrip Cambodia @SiemReap



ทริปนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่  23-25 กรกฎาคม 2561
ในการเดินทางไปยังจังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

ความยิ่งใหญ่และประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศกัมพูชานับเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ด้วยรูปแบบอันโดดเด่นของสถาปัตยกรรมโบราณ วัฒนธรรม และความเปลี่ยนแปลงของศาสนาที่ผสานกันอย่างลงตัว ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้มาเยือน มนต์ขลังและเสน่ห์แห่งสถาปัตยกรรมโบราณเหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเยือนเมืองเสียมเรียบ และคงหนีไม่พ้นการค้นหาอาณาจักรโบราณที่ยิ่งใหญ่อย่างนครวัด นครธมและกลุ่มปราสาทต่างๆ ที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นจากความเชื่อในยุคนั้น ประวัติศาสตร์กัมพูชาสามารถแบ่งออกเป็น 3 ยุค ได้แก่ ก่อนยุคพระนคร ยุคพระนคร และหลังยุคพระนคร อย่างไรก็ตามการล่มสลายของอาณาจักรต่างๆ นั้นยังไม่สร้างความชอกช้ำใจเท่ากับสงครามเขมรแดงซึ่งเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่คนชาติเดียวกันต่างลงมือฆ่ากันเอง แม้เหตุการณ์เลวร้ายนั้นจะผ่านไปเกือบ 36 ปีแล้ว แต่ก็ยังสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจแก่ชาวเขมรมาจนถึงปัจจุบัน
    สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเสียมเรียบ
1.  พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอังกอร์ Angkor National Museum



        พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในตัวเมืองของจังหวัดเสียมเรียบ เป็นที่เก็บรวบรวมหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ รวมถึงให้ข้อมูลด้านการศึกษาเกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรมของอาณาจักรขอมโบราณทั้งในก่อนยุคพระนคร ยุคพระนครและหลังยุคพระนคร ภายในพิพิธภัณฑ์มีการใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดีย ภาพและเสียงเพื่อให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของอาณาจักรขอมโบราณอย่างแท้จริง  มีห้องจัดแสดงทั้งหมดสองชั้นเรียงจากชั้นสองขึ้นไป ประกอบด้วย ชั้นสองมีห้องจัดแสดงพิเศษซึ่งเป็นห้องจัดแสดงพระพุทธรูปในอาณาจักรขอมโบราณ 
       ภายในมีพระพุทธรูปและโบราณวัตถุต่างๆ กว่า 1000 องค์ โดยวิธีการสังเกตศิลปะพระพุทธรูปมีหลากหลายรูปแบบด้วยกันยกตัวอย่างเช่น Buddha Sheltered by Naga เป็นพระพุทธรูปหินทราย สร้างในพุทธศตวรรษที่ 17-18แต่ก่อนจะไม่มีพญานาคอยู่ด้านหลังพระพุทธรูป แต่เมื่อศาสนาฮินดูเข้ามามีอิทธิพลจึงนิยมสร้างพระพุทธรูปที่มีพญานาคเป็นปรางค์นาคปรก  ความแตกต่างของศิลปะพระพุทธรูปแบบนครวัดและบายนคือ ลักษณะมงกุฎของพระพุทธรูปแบบบายนจะมีขนาดใหญ่กว่าแบบนครวัด 
       นอกจากนี้ยังสังเกตได้จากปรางค์นาคปรกที่บ่งบอกถึงความแตกต่างคือ ถ้าเป็นศิลปะแบบบายนหัวของพญานาคจะไม่ชิดกัน แต่ถ้าเป็นศิลปะแบบนครวัดหัวของพญานาคจะแนบชิดติดกัน  ต่อมาจะเป็นห้องจัดแสดงถึงความรุ่งเรืองของอาณาจักรขอมโบราณ ซึ่งมีรูปปั้นโดดเด่นยกตัวอย่างเช่น พระนารายณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทพแห่งสามโลก  มีลักษณะสวมหมวกกระบอกทรงสูงตามแบบศิลปะก่อนยุคพระนคร มี กร พระหัตถ์บนถือจักรและสังข์ พระหัตถ์ล่างทรงถือกระบองและธรณี นุ่งผ้าแบบสมพต โดยปรากฏชายผ้ารูปหางปลาปลายแตกเป็นเขี้ยวขาบสองชาย ซึ่งชายผ้าเขี้ยวตะขาบด้านล่างเป็นความสับสนของช่าง ซึ่งแท้จริงแล้วคือส่วนที่เป็นชายพกตลบกลับขึ้นไป ถัดไปเป็นรูปปั้นเทวดาผู้หญิง มีลักษณะจมูกโด่ง ท่อนบนเปลือยอกแต่ถ้าแต่งงานแล้วต้องไม่เปลือยท่อนบนให้ชายใดแลมอง ถัดมาเป็นห้องจัดแสดงเกี่ยวกับความเชื่อและศาสนา ยกตัวอย่างเช่น รูปปั้นพระพิฆเนตรสร้างในพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นศิลปะแบบบาปวน นอกจากนี้ยังมีครุฑที่สะท้อนให้เห็นว่าในก่อนยุคพระนครผู้คนมีความเชื่อเกี่ยวกับรูปปั้นอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้
ชั้นหนึ่งเป็นบริเวณจัดแสดงข้อมูล เรื่องราวของพระมหาษัตริย์แบบสามมิติผ่านภาพฉาย แกลลอรี่ รวมถึงจัดแสดงศิลาจารึกต่างๆ จากเสาหิน ยกตัวอย่างเช่น ศิวลึงค์ ที่เป็นสัญลักษณะของพระศิวะเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ใช้ในการบูชาสักการะในวิหาร ศิวลึงค์ถูกแปลความว่าเป็นเครื่องหมายแห่งพลังสร้างสรรค์ในบุรุษเพศที่มาจากองคชาต แม้ว่าในปัจจุบันชาวฮินดูส่วนใหญ่จะมองศิวลึงค์เป็นเครื่องหมายแห่งพลังศักดิ์สิทธิ์มากกว่าเครื่องหมายทางเพศ มักปรากฏอยู่พร้อมกับโยนีสัญลักษณ์ของพระแม่อุมาเทวีอันบ่งบอกถึงพลังสร้างสรรค์ของสตรีเพศ การที่ศิวลึงค์และและโยนีอยู่ร่วมกันแสดงถึงความเป็นสองในหนึ่งเดียวที่แยกออกจากกันไม่ได้ของบุรุษและสตรี อวกาศที่หยุดนิ่งและเวลาซึ่งเคลื่อนที่อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิต  นอกจากนี้ยังมีศิลาจารึกยุคพระนคร รูปปั้นนางอัปรา รูปแบบเสาหินสมัยต่างๆ รวมถึงพญานาคราชที่มักปรากฏตามสะพานก่อนเข้าสู่ตัวปราสาท

2. ปราสาทนครวัด Angkor Wat


         ปราสาทนครวัดสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งขณะนั้นเป็นพราหมณ์ฮินดูไวษณพนิกายนับถือพระนารายณ์เป็นมหาเทพ  ทั้งนี้กษัตริย์ที่เปรียบเสมือนเทพเจ้าจะต้องทำหน้าที่สำคัญสามอย่างคือ ต้องสร้างปราสาทขนาดใหญ่ ต้องสร้างปราสาทถวายบิดามารดาและบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และต้องต้องบารายขนาดใหญ่เพื่อให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภค 
ดังนั้นพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จึงสร้างปราสาทนครวัดเพื่อเป็นเทวาลัยบูชาและให้เป็นที่เก็บพระศพของพระองค์ นครวัดจึงแตกต่างกับปราสาทอื่นๆ ตรงที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นทิศแห่งความตาย (ยอร์ช เซเดส์,2543)  

            ล่วงเข้าสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เปลี่ยนนครวัดเป็นศาสนสถานพุทธนิกายมหายาน จากช่วงเริ่มสร้างกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ที่เป็นเทวสถานฮินดู เมื่อถูกพวกจามรุกราน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ต้องย้ายเมืองไปสร้างเมืองนครธมและปราสาทบายนซึ่งห่างจากนครวัดไปทางเหนือเป็นเมืองหลวงใหม่  
         กว่าจะเป็นปราสาทนครวัด ต้องใช้หินทรายเป็นวัสดุก่อสร้างหลักใช้แรงงานช้างนับหมื่นเชือก แรงงานคนนับแสนในการชักลากหินและลอยแพมาจากเขาพนมกุเลน ชึ่ง อยู่ห่างออกไปกว่า 50 กิโลเมตร เพราะไม่ได้เป็นเพียงศาสนสถานแต่ยังเป็นราชธานีด้วย อาณาบริเวณจึงกว้างใหญ่ไพศาล มีความยาว 1.5 กิโลเมตร กว้าง 1.3 กิโลเมตร มีปราสาท 5 หลัง

จุดเด่นของปราสาทนครวัดคือ การตั้งอยู่บนฐานสูงตามคติฮินดู คือเป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล คูน้ำล้อมรอบตามแบบมหาสมุทรล้อมเขาพระสุเมรุ ตรงทางเดินข้ามคูน้ำจะมีโคปุระที่มีความกว้าง เป็นประตูกลาง 3 ช่อง มีระเบียงยาวและปลายระเบียงมีประตูใหญ่ 2 ช่อง มีระเบียงล้อมรอบ 3 ชั้นจนถึงตัวปราสาท ปราสาทนครวัดแห่งนี้จึงเป็นปราสาทที่สมบูรณ์แบบที่สุดในด้านสถาปัตยกรรมขอม


ภาพแกะสลักทางประวัติศาสตร์ตามระเบียงชั้นแรกจะมีภาพสลักนูนต่ำยกตัวอย่างเช่น มหากาพย์อินเดียเรื่องรามายณะ ซึ่งเป็นภาพแสดงชัยชนะของพระรามที่เป็นอวตารของพระนารายณ์ ภาพกวนเกษียรสมุทรโดยเทวดากับอสูรซึ่งร่วมมือกันเพื่อน้ำอมฤต  ภาพการพิพากษาผู้ที่ตายไปแล้วให้ขึ้นสวรรค์และลงนรก ภาพเทพธิดาที่ปปกปักรักษาศาสนสถาน บางภาพงดงาม บางภาพวางเฉยและทำท่าจะคุยกัน ภาพพระเจ้าสุริยวรมันที่ ประทับอยู่ท่ามกลางข้าราชสำนนัก นั่งขัดสมาธิอยู่บนที่ประทับซึ่งประดับด้วยนาค ด้านหลังมีคนเชิญกรด พัดโบกและแส้ ด้านหน้ามีคนคุกเข่าแสดงความเคารพอยู่ มีพราหมณ์ที่มีใบหน้ายาว จมูกเล็กซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นชาวอินเดีย  ภาพการติดตามของขบวนขอมเพื่อไปสู้กับพวกจาม ภาพพวกเสียม(สยาม) ที่เดินเท้าเคลื่อนขบวน ผมเกล้าสูง แต่งตัวด้วยผ้ากระโปรงมีอุบะยาวห้อยอยู่โดยรอบและหันหน้ามาคุยกันจ้อกแจ้ก






3.  ปราสาทบายน  Bayon at Angkor Thom


ปราสาทบายนตั้งอยู่ในพื้นที่รูปสี่เหลี่มจัสตุรัสของนครธมซึ่งประตูทางเข้ามีประติมากรรมรูปปั้นกวนเกษียรสมุทรของเทวดาและอสูรตั้งอยู่คนละฝั่ง ผ่านเข้าไปด้านในเป็นปราสาทบายนที่ไม่มีกำแพงล้อมรอบ ปรากฏรูปหน้าคนหลายหน้าเด่นชัด สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อปีพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นศิลปะแบบบายนศาสนาพุทธนิกายมหายาน ทั้งนี้มีการสร้างปราสาทที่มีภาพลักษณ์ต่างจากการสร้างรูปแบบเดิมๆ โดยสิ้นเชิง นั่นเป็นเพราะพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งต่างจากกษัตริย์หลายพระองค์ที่ล้วนแล้วแต่นับถือศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์



         จุดเด่นของปราสาทบายนคือ ชั้นบนสุดจะเป็นภาพหน้าคนหลายหน้าบนปรางค์แต่ละองค์ เป็นใบหน้ายิ้มแบบศิลปะบายน
 ปรางค์ปราสาทบายนทั้ง 54 ปรางค์ถูกสลักเป็นภาพพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผันพระพักตร์ออกไปทั้งสี่ทิศ เพื่อสอดส่องดูแลความทุกข์สุขของราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข รอยยิ้มที่ระเรื่อนี้เรียกว่ายิ้มแบบบายนเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา ใบหน้าเหล่านั้นหากนับรวมกัน 54 ปรางค์ ปรางค์ละ 4 หน้า จะมีรวมถึง 216 หน้า แต่ปัจจุบันได้สึกกร่อนพังทลายลงไปหลายหน้าแล้ว(มาดแลน จิโต,2552)


ภาพแกะสลักทางประวัติศาสตร์ตามระเบียงด้านนอกจะมีภาพทหารของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นทหารรับจ้างชาวจีน มีเคราสั้นๆ ทรงผมเป็นเอกลักษณ์ ภาพวัวที่กำลังเข้าพิธีบูชายัญ ภาพการต่อสู้ระหว่างพวกขอมกับจาม(พวกจามดูได้จากหมวก เกราะที่สวมเป็นรูปดอกบัวคว่ำ ปีกหมวกยาว) ภาพโตนเลสาบที่กำลังเอ่อขึ้นสูง มีปลาว่ายน้ำไปตามกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ที่อยู่บนฝั่ง ภาพเรือสำเภาจีนและภาพคนกำลังกินเหล้า เล่นหมากรุก ภาพทหารขอมกำลังทำสงคราม ภาพกองกำลังทหารกำลังสร้างสะพานทุ่นลอยเพื่อข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งและภาพวิถีชีวิตของชาวเขมร





4. ปราสาทตาพรหม Ta Prohm





         เป็นศาสนสถานที่ถูกทิ้งร้าง จุดเด่นของปราสาทตาพรหม คือ เป็นปราสาทที่ถูกกลืนกินโดยป่าไม้ สร้างในปลายปีพุทธศตวรรษที่ 18ปราสาทตาพรหมมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสโดยรอบมีพื้นที่กว้าง ภายในมีความซับซ้อน มีการสร้างปราสาทไว้เป็นวิหารสำหรับอารามตามพระพุทธศาสนา ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7สร้างปราสาทแห่งนี้เพื่อถวายแด่พระมารดาของพระองค์ และมีรูปเคารพบูชาคือ พระปรัชญาปารมิตาโพธิสัตว์ ซึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เชื่อว่าพระองค์จะกลายเป็นพุทธะในระยะต่อไป ทางเข้าปราสาทตาพรหมจะเป็นทางเดินก่อนเข้าสู่กำแพง ด้านในจะมีคูน้ำ กำแพงด้านในมีซุ้มประตูมีสิ่งก่อสร้างจำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่ แสดงให้เห็นว่าศาสนสถานแห่งนี้เป็นวัดในพุทธศาสนา (ชากส์ ดูมาร์เซย์,2548)



 ปราสาทตาพรหมถูกเก็บรักษาไว้เพื่อให้เห็นสภาพที่แท้จริงว่าปราสาทอยู่กับธรรมชาติมาได้เกือบ 500 ปี อันเป็นอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อให้เห็นลักษณะของต้นไม้ที่เกาะกุมปราสาท เดิมก่อนสร้างปราสาทนั้นสภาพบริเวณนี้เป็นป่ามาก่อน เมื่อจะสร้างปราสาทจึงต้องเคลียร์พื้นที่ให้เป็นที่โล่ง โดยการตัดไม้ออกแต่ในที่สุดแล้วธรรมชาติก็สามารถที่จะเอาชนะถาวรวัตถุที่ถูกสร้างจากมนุษย์ ต้นไม้ที่เกาะกุม ชอนไชไปเรื่อยๆ ไปยังส่วนต่างๆของปราสาท ช่วยให้บรรยากาศของปราสาทตาพรหมดูลึกลับ สวย ไม่เหมือนปราสาทที่อื่นๆ



5.  ปราสาทบันทายศรี Banteay Srei




เป็นศาสนสถานที่สร้างโดยพราหมณ์ยัชญวราหะ ในสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 และพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในลัทธิไศวนิกายเพื่อบูชาพระศิวะ ตามจารึกที่ปราสาทบันทายศรีกล่าวว่า เมื่อพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 เสด็จสวรรคต พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ซึ่งเป็นราชโอรสจึงขึ้นครองราชย์แทน เนื่องจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ยังทรงพระเยาว์อยู่ พราหมณ์ยัชญวราหะ จึงได้ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเป็นพระอาจารย์ให้กับพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ไปพร้อมๆ กัน พราหมณ์ยัชญวราหะได้ทูลขอที่ดินแปลงหนึ่งจากพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 เพื่อมาสร้างปราสาทเพื่อบูชาพระศิวะและเป็นศูนย์รวมจิตใจของราษฎร(มาดแลน จิโต,2552)


จุดเด่นของปราสาทบันทายศรี เป็นเทวสถานขนาดเล็ก แต่มีความงามทางด้านลวดลายเป็นเลิศ ศิลปะมีลักษณะพิเศษจนต้องจัดเป็นศิลปะสมัยหนึ่งโดยเฉพาะ ก่อสร้างด้วยหินทรายสีชมพู เนื้อละเอียด การสลักลวดลายดูอ่อนช้อย ลายคมชัด ดูมีชีวิตชีวา เป็นที่น่าสังเกตว่าปราสาทที่พระเจ้าแผ่นดินสร้าง กับปราสาทที่เสนาบดีหรือข้าราชการชั้นสูงสร้างจะต่างกันที่ฐาน ปราสาทที่พระเจ้าแผ่นดินสร้างจะสร้างอยู่บนฐานที่ทำเป็นชั้นสูงหรือสร้างบนเนินเขาดังเช่น นครวัด สำหรับปราสาทบันทายศรีผู้สร้างเป็นพราหมณ์ จึงต้องสร้างปราสาทบนเนินดินอาจทำเป็นฐานเตี้ยๆ ยกพื้นขึ้นเพื่อรองรับตัวปราสาทเท่านั้น


ภาพแกะสลักทางประวัติศาสตร์ ที่หน้าบันสลักเรื่องรามเกียรติ์ตอนทศกัณฑ์ยกเขาไกรลาศให้เข้าที่ ในภาพสลักนี้จะเห็นภาพพระศิวะกำลังอุ้มพระอุมาเทวีอยู่บนตัก ด้วยความตื่นพระทัย ท่ามกลางเขาไกรลาศที่เอียงลง มีพวงช้างและสิงห์ซึ่งจัดว่าเป็นเจ้าแห่งพลังต่างตกใจเงยหน้าทำท่ากลัวเกรง นับได้ว่าเป็นภาพสลักที่มีชีวิตชีวาที่สุดภาพหนึ่ง  ถัดมาคือภาพสลักพระศิวนาฎราช ภาพการร่ายรำของพระศิวะนับว่ามีบทบาทสำคัญในคติความเชื่อของผู้นับถือศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย พระศิวะในภาพหนึ่งเศียร สิบกร พระเกศาทรงฏามกุฎ ร่ายรำอยู่เหนือพวงพฤกษา การร่ายรำของพระศิวะเป็นที่เลื่องลือและยกย่องของเหล่าเทพทั้งมวลถึงความสวยงามน่ายำเกรง นอกจากนี้ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูยังเชื่อว่าจังหวะการรายรำของพระศิวะอาจบันดาลให้เกิดผลดีและผลร้ายแก่โลกได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องอ้อนวอนให้พระองค์ฟ้อนรำในจังหวะที่พอดี โลกจึงจะร่มเย็นเป็นสุข หากพระองค์โกรธกริ้วด้วยการร่ายรำในจังหวะที่รุนแรงแล้วก็ย่อมจะนำมาซึ่งภัยพิบัติแก่โลกนานัปการ นอกจากนี้ยังมีเทวดาและเทพธิดาที่สลักอยู่ประจำผนังเทวลัย ก็มีลักษณะน่าชมมาก เนื้อตัวไม่ใหญ่โค แต่ดูอวบอิ่ม ประดับด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ดูสวยงามมาก ยืนอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว นางอัปสรยืนอยู่ในท่าที่เอียงสะโพกเล็กน้อย ทรงผมเกล้าเรียบๆ มีต่างหูประดับ เอียงคอเล็กน้อยมือจับจีบดอกบัว ใส่กำไลทั้งมือและเท้า
   

6.  วัดใหม่ (วัดอัฐิทะมอสาน)




          วัดใหม่แห่งนี้ตั้งอยู่ในตัวเมืองเสียมเรียบ แต่เดิมเคยมีพระมาจำวัดอยู่แต่กลับถูกบังคับให้จับสึกทั้งหมดในช่วงสงครามเขมรแดง วัดใหม่หรือวัดอัฐิทะมอสาน ใช้เป็นที่เก็บอัฐิของชาวเขมรในสงครามเขมรแดง มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3ล้านคน จึงมีการสร้างวัดใหม่ขึ้นคร่อมทับพื้นที่เดิมแล้วนำเอาโครงกระดูกและหัวกะโหลกศรีษะของผู้เสียชีวิตมารวบรวมและจัดแสดงในตู้กระจกภายในวัด เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานถึงความโหดร้ายในสงครามเขมรแดง วัดใหม่แห่งนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทุ่งสังหาร (Killing Field
   

           ในวันที่ 17 เมษายน 1975 เริ่มต้นยุคเขมรแดงเรืองอำนาจ  เหตุการณ์สะเทือนโลกนี้เริ่มต้นจากนายลอนนอลได้ทำรัฐประหารรัฐบาลหุ่นเชิดของสหรัฐอเมริกา แล้วเปลี่ยนมาจัดตั้งรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย โดยมีเจ้าสีหนุได้กลับมาดำรงตำแหน่งประมุขแห่งกัมพูชาอีกครั้ง ก่อนกองกำลังฝ่ายซ้ายคอมมิวนิสต์กัมพูชาหรือเขมรแดงซึ่งมีเวียดกงเป็นพันธมิตรเข้ายึดอำนาจในที่สุด  จากนั้นกัมพูชาก็ตกอยู่ภายใต้อำนาจของ นายพอลพต ผู้นำเขมรแดง โดยนายพอลพตมีการนำนโยบายปรับปรุงระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมพึ่งตนเองมาใช้  โดยไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากภายนอกและไม่ยอมเป็นสัมพันธมิตรกับชาติใดๆ มีการปิดโรงเรียน โรงพยาบาล และยกเลิกระบบธนาคารทั้งหมด  
          ด้วยความคลั่งลัทธิซ้ายของพอลพต  เขาเชื่อว่าระบบสังคมนิยมจะนำกัมพูชาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองดังเช่นอดีต  ดังนั้นประเทศควรจะอยู่อย่างสันโดษ ไม่ต้องเพิ่มวิทยาการเทคโนโลยีใดๆ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงนำมาซึ่งการกวาดล้างผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ทางความคิด นักศึกษา ปัญญาชน นักปราญ์ นักการเมือง และบุคคลผู้มีความรู้ว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งบุคคลเหล่านี้มักจะถูกฆ่าอย่างไร้เหตุผล 

   

          นายพอลพตต้องการให้กัมพูชามีแต่ชนชั้นกรรมมาชีพ จึงได้หลอกล่อประชาชนออกจากเมืองไปยังชนบทและใช้แรงงานเพื่อทำการเกษตร ซึ่งต้องทำงานวันละ 11 ชั่วโมงโดยไม่หยุดพก ในระยะเวลา 4 ปีที่นายพอลพตกุมอำนาจ  ทำให้มีผู้คนล้มตาย อดอยาก ถูกทารุณกรรมและถูกฆ่าเกือบ 3 ล้านคน นอกจากนี้เขมรแดงยังต้องการให้กัมพูชามีแต่คนเชื้อสายเดียวกัน คือ กัมพูชาเท่านั้นจึงเกิด  ทุ่งสังหาร เพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเวียดนาม ซึ่งพวกเขมรแดงมองว่าชาวเวียดนามจะมีนโยบายกลืนชาติ นอกจากนี้ยังมีชาวจีนและชาวเขมรด้วยกันเอง นับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดในเอเชียอาคเนย์

7. ศาลเจ้าเจ๊กเจ้าจอม และ ตลาดเก่า Old Market
ศาลเจ้าเจ๊กเจ้าจอม ซึ่งเป็นสถานที่เคารพศรัทธาของชาวเสียมเรียบ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเสียมเรียบ ทั้งชาวเขมรและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดเสียมเรียบจะต้องมากราบไหว้บูชาหรือขอพรเพื่อความเป็นศิริมงคลและตลาดเก่า Old Market เป็นตลาดที่มีมาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสปกครองแล้ว นับเป็นแหล่งช็อปปิ้งและแหล่งขายของฝากของจังหวัดเสียมเรียบ


ความประทับใจในการเดินทางครั้งนี้คือ การได้ออกมาสัมผัสประสบการณ์ต่างแดนครั้งแรก การได้เห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ภาษา และอาหารการกินของชาวเขมร การที่ได้มาเรียนรู้รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของชาวเขมรอย่างแท้จริงนั้นทำให้เข้าใจว่า ทุกๆ ความเชื่อย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง ดังเช่นชาวเขมรถือว่าตนเองมีความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษเป็นอย่างมากที่สามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้อย่างน่าจดจำผ่านความเชื่อในศิลปะรูปแบบต่างๆ แต่ขณะเดียวกันประวัติศาสตร์อันโหดร้ายของสงครามเขมรแดงกลับทำให้พวกเขาหวาดกลัว  สำหรับเขมรแดงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่คนชาติเดียวกัน ใช้ภาษาเดียวกันต้องฆ่ากันเองเพียงเพราะบ้าคลั่งลัทธิและอำนาจ ด้วยวิธีคิดที่ผิดพลาดและการปฏิบัติที่ผิดมนุษยธรรม คำว่า อภัยทาน จึงเป็นสิ่งที่ตราตรึงอยู่ในหัวใจของชาวเขมรทุกคน เพื่อที่พวกเขาจะไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก



ที่มาภาพ : Dek-South East Asia
ที่มาบทความเพิ่มเติม :
ยอร์ช เซเดส์.(2543).เมืองพระนคร นครวัด นครธม.(ปรานี วงษ์เทศ,ผู้แปล).กรุงเทพฯ:มติชน.
ชากส์ ดูมาร์เซย์.(2548).ย้อนรอยอารยะเมืองพระนคร.(วีระ ธีรภัทร,ผู้แปล).กรุงเทพฯ:อมรินทร์.
มาดแลน จิโต.(2552).ประวัติเมืองพระนครของขอม.(สุภัทรดิศ ดิศกุล,ผู้แปล).กรุงเทพฯ:มติชน.
ปราสาทตาพรหม.ค้นคว้าจาก http://www.oceansmile.com/KHM/Taphom.html
ปราสาทบันทายศรี.ค้นคว้าจาก http://www.oceansmile.com/KHM/Buntaysari.html



No comments:

Post a Comment